7 คำถามสำคัญที่คุณต้องตอบให้ได้ก่อนเริ่มทำเว็บไซต์


เว็บไซต์ถือเป็นหน้าตาให้กับธุรกิจของคุณบนโลกออนไลน์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากที่คุณจะต้องเข้าใจถึงหลักการในการสร้างเว็บไซต์ และไม่ว่าคุณจะสร้างเว็บไซต์เองหรือจ้าง agency ทำก็ตาม นี่เป็นคำถาม 7 คำถามสำคัญ ที่คุณจะต้องตอบให้ได้เสียก่อนที่จะเริ่มสร้างเว็บไซต์ให้ธุรกิจของคุณ

1. คุณมี host และชื่อ domain หรือยัง?

อันดับแรกก่อนที่คุณจะสร้างเว็บไซต์ คุณควรจะต้องมี host และชื่อเว็บไซต์ (domain) เสียก่อน เราแนะนำให้คุณตั้งชื่อเว็บไซต์ให้สื่อถึงความเป็นธุรกิจของคุณ เทคนิคง่ายๆที่เราแนะนำคุณก็คือ ลองหยิบปากกาขึ้นมาแล้วเขียนไอเดียร์คร่าวๆที่คุณอยากจะใส่ลงไปในเว็บไซต์ของคุณ วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถหาชื่อเว็บไซต์ที่ดีได้ ไม่เชื่อก็ลองดูสิ !
เอาล่ะ เมื่อคุณได้ชื่อเว็บไซต์มาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือคุณต้องเชคเสียก่อนล่ะว่าชื่อนี้มีคนใช้ไปหรือยังที่เว็บไซต์ whois ได้เลย ถ้ามีคนใช้ไปแล้วก็ต้องรีบคิดชื่อใหม่แล้วล่ะ
เราจะบอกทริกเล็กๆน้อยๆพร้อมยกตัวอย่างให้คุณดูกัน เช่น เว็บไซต์  journey52.com คุณจะเห็นว่าไม่ได้มีคำบ่งบอกความชัดเจนใดๆ โดยเฉพาะตัวเลข 52 หากไม่ได้มีความหมายใดๆต่อแบรนด์ของคุณ คุณก็ไม่ควรจะใช้ชื่อนี้เป็นชื่อเว็บไซต์ของคุณ คุณอาจจะต้องหาชื่อใหม่ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น bangkokjourney.com เป็นต้น

เมื่อได้ชื่อที่ถูกใจแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่คนทั่วไปมักมองข้าม แต่จริงๆแล้วสำคัญไม่น้อยไม่กว่าการตั้งชื่อเลยก็คือการเลือก web host เว็บไซต์ของคุณจะดาวน์โหลดช้าหรือเร็วและมีความเสถียรมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการเลือก web host เหมือนกันนะจะบอกให้ ซึ่งเจ้าสองสิ่งนี้ล้วนมีส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์ในการใช้งานของผู้ที่เข้ามาดูเว็บไซต์ของคุณ คิดดูสิ! ถ้าลูกค้าเข้ามาดูเว็บไซต์ของคุณแล้วปรากฏว่าเว็บไซต์ของคุณโหลดช้ามากๆ มันก็คงจะไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจของคุณเป็นแน่ ใช่ไหมล่ะ? เพราะฉะนั้นคุณควรหาข้อมูลให้ดีเสียก่อนที่จะเลือกใช้งานกับ web host เจ้าไหน สำหรับทาง Glow Digital เอง เราใช้งานอยู่กับ Ruk Com ซึ่งก็นับว่าเป็น web host ที่ดีเจ้าหนึ่งเลยล่ะ

2. คุณเลือก Content Management System ที่เหมาะสมหรือยัง

หลายๆคนคงงงๆและไม่เข้าใจว่าไอ้เจ้า content management system (หรือที่เราเรียกกันย่อๆว่า CMS) มันคืออะไร พูดให้เข้าใจง่ายๆมันก็คือระบบหลังบ้านของเว็บไซต์นั่นแหละ เอาไว้สร้าง จัดการ แก้ไข จัดเก็บ เว็บไซต์ของเรานั่นเอง โดยเจ้า CMS เนี่ยก็มีหลายยี่ห้อ หลายเจ้าให้เราเลือกใช้ ส่วนมากก็จะมี interface ที่สามารถใช้งานได้ง่าย ดูแล้วไม่น่ากลัว ไม่ต้องใช้ความรู้ในการเขียนโค้ด HTML ในการจัดการ ซึ่งในปัจจุบัน CMS ที่เป็นที่นิยมก็ได้แก่ Wordpress, Joomla และ Drupal จริงๆแล้วไม่ได้มีแค่นี้นะ ยังมีอีกหลายเจ้าให้คุณเลือกใช้เลยล่ะ แต่ที่คนส่วนมากนิยมใช้กันก็จะเป็นเจ้า 3 ยี่ห้อนี่ล่ะ เราแอบกระซิบให้ว่าเว็บไซต์ Glow Digital เราเลือกใช้ wordpress เพราะใช้งานง่าย และค่อนข้างเป็นที่นิยม

สิ่งสำคัญอีกข้อคือคุณต้องรู้วิธีการเข้าหลังบ้าน (backend) เพื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในเว็บไซต์ของคุณ โดยที่คุณไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยาก พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือคุณควรเลือก CMS ที่มีรูปแบบหลังบ้านที่ถูกจริตของคุณนั่นเอง และสุดท้ายนี้จงแน่ใจว่าคุณได้เลือกใช้โซลูชั่นที่ยืดหยุ่นและ scalable ส่วนการเลือกใช้ drag and drop builder อย่างเช่น WIX ในการสร้างเว็บไซต์ของคุณนั้น ก็ถือว่าใช้งานได้ดีถ้าหากว่าคุณเป็นธุรกิจขนาดเล็กและต้องการแค่เว็บไซต์ที่ไม่ได้มีฟีเจอร์ซับซ้อนอะไรมากนัก แต่ถ้าหากคุณต้องการเว็บไซต์ที่มีฟีเจอร์และฟังก์ชั่นมากขึ้นในอนาคต WIX คงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก เพราะนั่นหมายถึงคุณอาจจะต้องเสียเวลาสร้างเว็บไซต์ใหม่ขึ้นมาเพื่อแทนของเก่าเลยทีเดียวเชียวล่ะ 


3. คู่แข่งของคุณกำลังทำอะไรอยู่

การศึกษาคู่แข่งทางธุรกิจของคุณเป็นสิ่งที่คุณควรจะต้องทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันสามารถเป็นไกด์ไลน์ให้คุณในการออกแบบเว็บไซต์ได้ คุณจะต้องรู้วิธีที่จะทำให้เว็บไซต์ของคุณดูโดดเด่นจากคู่แข่งแต่ก็ยังสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้ที่เข้ามาชมเว็บไซต์ได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นคุณจำเป็นต้องรู้ว่าคู่แข่งของคุณกำลังทำอะไรอยู่ และแนวคิดในการออกแบบหลักของพวกเขาคืออะไร เพื่อที่คุณจะได้นำมาปรับใช้กับเว็บไซต์ของตัวเอง การศึกษาคู่แข่งจะทำให้คุณรู้ว่าสิ่งไหนดีและสิ่งไหนที่ไม่ดี โดยที่คุณไม่ต้องมาเสียเวลาทดลองผิดๆถูกๆกับเว็บไซต์ของตัวเองเลยด้วยซ้ำ ซึ่งจะช่วยให้คุณประหยัดเวลาไปได้มากเลยทีเดียว

4. คุณวางกลยุทธ์ด้าน content สำหรับเว็บไซต์ของคุณหรือยัง (content strategy)

กลยุทธ์ด้านคอนเทนท์จะเป็นตัวกำหนดทิศทางเนื้อหาในเว็บไซต์ของคุณ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องวางแผนล่วงหน้าก่อนที่จะเริ่มทำเว็บไซต์ โดยเริ่มจากการแยกกลยุทธ์ด้านคอนเทนท์ออกเป็นขั้นตอนเพื่อที่คุณจะสามารถโฟกัสได้ทีละอย่างในแต่ละช่วงเวลา ยกตัวอย่างเช่น คุณเพิ่งจะทำการ  rebrand ธุรกิจของคุณ content ที่คุณควรนำเสนอก็คือ ทำไมแต่ละบริษัทถึงควรจะทำการ rebrand การนำเสนอคอนเทนท์นี้ก็เพื่อขยายและสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายว่า เฮ้ ฉันมีการเปลี่ยนแปลงนะ ฉันทำการ rebrand แล้วนะ

หลังจากนั้นคอนเทนท์ที่คุณควรนำเสนอคือ การนำเสนอสินค้าและบริการของคุณ พร้อมทั้งนำเสนอว่าคุณเหนือกว่าคู่แข่งตรงไหน ซึ่งกลยุทธ์ด้านคอนเทนท์เหล่านี้จะช่วยให้เพิ่มอัตราการเข้าชมเว็บไซต์ของคุณ เมื่อคุณกำหนดทิศทางกลยุทธ์ด้านคอนเทนท์ได้แล้ว สิ่งที่คุณจะลืมไม่ได้เลยก็คือการแบ่งหน้าที่ให้ทีมของคุณ คนที่รับผิดชอบด้านการสร้างคอนเทนท์นั้นก็จำเป็นจะต้องรู้วิธีใช้งานของ CMS ในข้อ 2 ด้วย ไม่งั้นล่ะก็… คงจะไม่ดีแน่ๆ หากคนสร้างคอนเทนท์กลับไม่รู้วิธีที่จะเข้าไปจัดการกับคอนเทนท์บนเว็บไซต์ เพราะฉะนั้นอย่าลืมเลือกแบ่งงานให้ถูกคนด้วยล่ะ

5. คุณมีงบเท่าไรในการทำเว็บไซต์

ข้อนี้ถือเป็นข้อสำคัญมากที่คุณจะกำหนดทิศทางในการทำเว็บไซต์ของคุณ คุณต้องตอบคำถามข้อนี้เพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งใดที่คุณทำได้ และสิ่งใดที่คุณทำไม่ได้ให้กับเว็บไซต์ของคุณ สิ่งสำคัญคือการประเมินค่าใช้จ่ายทั้งหมดล่วงหน้า วิธีนี้จะช่วยให้คุณมั่นใจว่าจะได้เว็บไซต์ที่ดีที่สุดเท่าที่งบประมาณของคุณจะเอื้ออำนวย


6. คุณจะวัดปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ของคุณอย่างไร

Web analytic tools ทั้งหลายจะช่วยให้คุณทราบถึงข้อมูลของผู้เข้าชมเว็บไซต์ของคุณ โดยคุณจะเห็นจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์, หน้าไหนที่พวกเขาเข้าชม, พวกเขาใช้เวลาเท่าไรในการเข้าชมเว็บไซต์แต่ละครั้ง และยังสามารถให้ข้อมูลอื่นๆได้อีกมากมายเลยล่ะ แต่น่าเสียดายที่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กส่วนมากไม่ใส่ใจกับ web analytic tools เหล่านี้ แต่เมื่อคุณได้อ่านบทความนี้แล้วล่ะก็ จงรู้ไว้เถอะว่าไม่ว่าคุณจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง มันสำคัญมากที่จะเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าของคุณ เพื่อที่คุณจะสามารถนำมันไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ของคุณเพื่อให้พวกเขาได้รับประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้น

ฟังดูเหมือนยากใช่ไหมล่ะ แต่จริงๆแล้วการใช้งาน Web analytic tools นี้มันง่ายมาก เราแนะนำให้คุณใช้ Google Analytics เพราะมันฟรี! และที่สำคัญวีธีการติดตั้งแต่ตั้งค่าก็ง่ายมากๆ ไม่กี่ขั้นตอนก็เสร็จแล้วล่ะ สุดท้ายนี้เราจะบอกกับคุณว่า การเข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้นหมายถึงการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามข้อนี้ไปล่ะ


7. คุณมี web designer หรือยัง

ถ้าคุณมีนักออกแบบเว็บไซต์มือโปรอยู่ในทีมของคุณล่ะก็ เปรียบเสมือนคุณมีทนายมือดีไว้สู้คดีในศาลเลยทีเดียวเชียวล่ะ เพราะสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เว็บไซต์ของคุณออกมาเจ๋งก็คือนักออกแบบเว็บไซต์ที่มีประสบการณ์ และมีทักษะในการใช้ web design tools ต่างๆ เพราะเขาจะทำให้ทุกอย่างบนเว็บไซต์ของคุณสามารถใช้งานได้จริงตามที่คาดหวังไว้

Glow Digital พวกเราคือ web design agency เรามีทีมออกแบบเว็บไซต์มือโปรที่รักในการครีเอทเว็บไซต์ที่จะช่วยให้ลูกค้าได้ปริมาณการเข้าชมที่มากขึ้น ถ้าหากว่าคุณต้องการเว็บไซต์เจ๋งๆสำหรับธุรกิจหรือแบรนด์ของคุณแล้วล่ะก็ เข้ามาพูดคุยหรือขอคำแนะนำจากเราได้เลย คลิกเลย

4 ข้อของการออกแบบเว็บไซต์ที่คุณควรให้ความสำคัญ

4 ข้อของการออกแบบเว็บไซต์ที่คุณควรให้ความสำคัญ

ถ้าปราศจาก graphic design และการออกแบบ เว็บไซต์ของคุณก็ไม่ได้ต่างอะไรกับก้อนหินก้อนหนึ่ง แถมยังเอาไปทับกระดาษไม่ได้ซะด้วย เพราะมันดันอยู่บนโลกอินเตอร์เนตเสียนี่ ช่างไร้ประโยชน์เสียจริง

เพราะฉะนั้นการออกแบบเว็บไซต์จึงเป็นหัวใจหลักของการสร้างและขยายฐานลูกค้าออนไลน์ของคุณเลยเชียวล่ะ แถมยังช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายของยอดขายที่ตั้งไว้ได้ด้วยนะ

เราพยายามบอกคุณเสมอในบทความก่อนหน้าว่าเว็บไซต์มีบทบาทสำคัญในการผลักดันยอดขายให้ธุรกิจของคุณ แต่ช่างน่าเสียดายที่เจ้าของเว็บไซต์จำนวนมากก็ยังละเลยการออกแบบเว็บไซต์ให้เหมาะสม เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะมาบอกทริกคุณว่า ส่วนไหนของเว็บไซต์ล่ะ ที่คุณควรจัดลำดับความสำคัญกับมัน

1) UX (User experience) และ UI (User interface)

หลายคนคงเคยได้ยินเจ้าสองคำนี้มาตลอดในช่วง 2-3 ปีนี้ แต่บางคนก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าเจ้าสองคำนี้มันต่างกันยังไง เอาล่ะ! งั้นวันนี้เราอยากให้คุณลองเปรียบเทียบกับร้านค้าทั่วไปดู ลองหลับตาแล้วนึกภาพเวลาคุณเดินเข้า 7-11 สิ

UI ก็เปรียบเสมือนป้าย 7-11 หน้าร้าน, ฉลากบอกชื่อสินค้า, ป้ายราคาสินค้า, การจัดวางสินค้าที่ดูเป็นระเบียบ สวยงาม ในขณะที่เจ้า UX ก็คือเลย์เอาท์ของป้ายต่างๆ รวมไปถึงเลย์เอาท์ของชั้นวางสินค้านั่นเอง มันดูเชื่อมต่อกันไปหมด หาของก็ง่าย เข้าปุ๊ปเดินไปหยิบของที่เราต้องการได้ปั๊ปเลยใช่ไหมล่ะ

เอาล่ะพอจะมองภาพกันออกขึ้นมานิดนึงแล้วใช่ไหม ตอนนี้เราลองมองกลับไปที่เว็บไซต์ คุณเองก็อยากให้เว็บไซต์ของคุณมีกราฟฟิกที่ดูสวยงาม องค์ประกอบต่างๆถูกจัดวางเป็นระเบียบ ซึ่งนี่คือเจ้า UI นั่นเอง ในขณะเดียวกันคุณก็ต้องการให้หน้าแต่ละหน้าลิงค์หากันอย่างมีเหตุผล เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย และนี่ก็คือเจ้า UX นั่นเอง

ถึงแม้ว่าเจ้า UI และ UX เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน แต่เจ้าสองตัวนี้ก็มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือ การทำให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์รู้สึกว่าการเข้าชมเว็บไซต์ของคุณเนี่ยมันคุ้มค่ากับเวลาของพวกเขานั่นเอง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณจึงต้องมีการวางแผนและออกแบบ UX และ UI ให้เข้ากับการออกแบบโดยรวมเพื่อสร้างเว็บไซต์ที่มีทั้งความสวยงาม เป็นระเบียบ และสามารถใช้งานได้ง่ายในเวลาเดียวกันนั่นเอง


2) เว็บไซต์ของคุณจะต้องใช้งานได้ง่ายเมื่อเปิดบนโทรศัพท์มือถือ

Mobile UX เป็นส่วนเสริมที่ต่อยอดมาจาก desktop UX เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนนิยมเข้าชมเว็บไซต์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณจึงจำเป็นต้องออกแบบเว็บไซต์ให้เหมาะกับการแสดงผลบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือด้วย เพราะบางครั้งเมื่อเราเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาสักหนึ่งเว็บไซต์บนเครื่องคอมพิวเตอร์มันก็ดูสวยดีนะ แถมยังใช้งานง่ายอีกตังหาก แต่ปรากฎว่าพอเราเปิดบนมือถือมันดันดูแย่เอามากๆเลย ใช้งานก็ยาก หาปุ่มต่างๆไม่เจออีกตังหาก ดังนั้นการออกแบบเว็บไซต์ของคุณจะต้องตอบสนองการใช้งานของผู้เข้าชมที่ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมผู้ที่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ด้วย


3) หน้าแรก Homepage

หน้า Homepage ถือเป็นหน้าเป็นตาให้กับธุรกิจของคุณเลยทีเดียว  เราเข้าใจหากคุณจะคิดว่าเว็บไซต์ของคุณควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างความประทับใจแรกให้กับผู้เข้าชมเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่สิ่งที่เราอยากให้คุณโฟกัสมากกว่าความสวยงามนั้นก็คือ เรื่องของการออกแบบหน้า Homepage ยังไงให้ผู้เข้าชมมีความรู้สึกอยากจะสำรวจส่วนอื่นๆของเว็บไซต์คุณตังหากล่ะ
ถ้าหากว่าหน้าแรกของเว็บไซต์คุณดูไม่ดีเลย แถมยังไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรที่พวกเขาต้องการอีกตังหาก สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ พวกเขาจะปิดเว็บไซต์ของคุณลงในที่สุด และสิ่งที่จะตามมาเป็นลูกโซ่ก็คือ เมื่อจำนวนของผู้เข้าชมออกจากเว็บไซต์ของคุณตั้งแต่เข้ามาหน้าแรก โดยไม่คลิกดูหน้าอื่นเลยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ rank ของคุณใน search engine เช่น google และ bing ตกอันดับไปเรื่อยๆ จากที่เคยอยู่หน้าหนึ่งก็กลายเป็นหน้าที่สอง สาม สี่….. จนกระทั่งไม่ติดอันดับใน 10 หน้าแรก แถมสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าที่คุณไม่อยากให้เกิดก็คือ

“เห้ยแกรรร! เว็บนี้ใช้งานยากว่ะ ชั้นหาปุ่มกดซื้อไม่เจออ่ะ แกไปลองซื้อจากเว็บ abc.com สิ ใช้งานง่ายกว่าตั้งเยอะ”

การบอกต่อประสบการณ์ที่ไม่ดีนั่นเอง ซึ่งหากเกิดขึ้นกับเว็บไซต์คุณเมื่อไรแล้วล่ะก็ รับรองความพังได้เลย!!

4) หลีกเลี่ยงการใส่คอนเทนท์มากเกินความจำเป็นแล้วหันไปใช้ปุ่ม Call To Action แทน

ไม่มีผู้เข้าชมเว็บไซต์คนไหนอยากดูเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยรูปภาพ, ลิงค์เยอะแยะเต็มหน้า ไหนจะเนื้อหาวิ๊บๆวั๊บๆที่แข่งกันดึงความสนใจ เว็บไซต์ลักษณะนี้จะทำให้ผู้เข้าชมลืมจุดประสงค์แรกของการเข้าชมเว็บไซต์ของคุณ ซึ่งนั่นก็คือการค้นหาข้อมูลที่พวกเขาต้องการ แทนที่คุณจะอัดเนื้อหา รูปภาพ และลิงค์ต่างๆในหน้าเดียว เราขอแนะนำให้คุณเปลี่ยนไปใช้ปุ่ม Call To Action (CTA) ที่มีรูปแบบสวยงาม เช่น “กดซื้อสินค้า” , “Download Now” , “Subscribe” หรือ “Book Now” จะดีกว่า แต่คุณต้องวางมันให้ถูกที่ถูกทาง มองเห็นง่าย และสอดคล้องกับเนื้อหาที่แสดงอยู่นั้นๆด้วยล่ะ เพราะปุ่มพวกนี้แหละจะช่วยให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์คลิกเข้าไปชมเนื้อหาส่วนอื่น โดยไม่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องดูเนื้อหาส่วนที่พวกเขาไม่ต้องการ

เลือกสีที่ใช่สำหรับเว็บไซต์ของคุณ

 

เลือกสีที่ใช่สำหรับเว็บไซต์ของคุณ

การที่คุณจะสร้างเว็บไซต์ใหม่ขึ้นมาสักหนึ่งเว็บไซต์เพื่อธุรกิจและแบรนด์ของคุณนั้น แน่นอนว่ามีสิ่งที่คุณต้องตัดสินใจหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามเลยนั่นก็คือการเลือกใช้สีสำหรับเว็บไซต์ใหม่ของคุณ การเลือกสีแบบสุ่มสี่สุ่มห้านั้นไม่ใช่ความคิดที่ดีเลยสักนิด เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้เว็บไซต์ของคุณดูดีแล้ว บางครั้งการตัดสินใจเลือกสีที่ผิดพลาดยังทำให้แบรนด์ของคุณดูแย่ลงอีกด้วย จริงๆแล้วสีมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดลูกค้าหรือแม้กระทั่งทำให้คุณสูญเสียลูกค้าเลยทีเดียวเชียวล่ะ เพราะฉะนั้นคุณต้องใช้ความพยายามสักนิดในการเลือกใช้ที่สีที่ถูกต้อง

ฟังดูแล้วเหมือนจะง่ายใช่ไหม แต่จริงๆแล้วการเลือกสีนั้นเหมือนกับสุนทรียศาสตร์เลยล่ะ การเลือกสีให้สวยงามและสามารถส่งสารที่ถูกต้องถึงผู้รับได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก มีการผสมสีและชุดสีให้คุณเลือกใช้นับไม่ถ้วนเลยล่ะ แต่โดยทั่วไปแล้วการออกแบบเว็บไซต์หนึ่งเว็บไซต์จะประกอบด้วยชุดสีไม่เกินห้าสี โดยคุณสามารถนำมาผสมกัน หรือนำมาใช้เพื่อตัดกันก็ได้ และเพื่อช่วยให้คุณเลือกสีสำหรับการออกแบบเว็บไซต์ของคุณได้อย่างถูกต้อง วันนี้เรามีวิธีและตัวช่วยสำหรับการเลือกใช้สีมานำเสนอโดยที่คุณสามารถทำตามได้ง่ายๆดังนี้

1. ศึกษาคู่แข่งของคุณ

ก่อนที่คุณจะตัดสินใจเลือกใช้ชุดสีใดๆก็ตาม คุณควรศึกษาเว็บไซต์ของคู่แข่งคุณเสียก่อน สีที่คู่แข่งของคุณใช้นั้นสามารถไกด์คุณสำหรับการตัดสินใจเลือกสีได้ แต่สิ่งที่สำคัญของการศึกษาเว็บไซต์ของคู่แข่งคือห้ามลอกหรือก๊อปปี้ชุดสีของคู่แข่งเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เป็นการยากที่แบรนด์ของคุณโดดเด่นและเป็นที่น่าจดจำ จำไว้เสมอว่าไม่ว่าเว็บไซต์ของคู่แข่งจะสวยขนาดไหนก็ตาม เว็บไซต์ของคุณเองก็ยังจำเป็นต้องมีชุดสีที่เป็นเอกลักษณ์และไม่เหมือนใคร จงตรวจสอบให้แน่ใจว่าชุดสีที่คุณเลือกนั้นจดจำได้ง่าย เพราะหากลูกค้าจำสีของแบรนด์คุณได้ นั่นหมายถึงลูกค้าก็จะจดจำแบรนด์ของคุณได้เช่นกัน

จริงๆแล้วการศึกษาชุดสีของเว็บไซต์คู่แข่งช่วยให้คุณประหยัดเวลาไปได้ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว เพราะสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือหากคุณออกแบบเว็บไซต์เสร็จแล้วแต่กลับพบว่าชุดสีที่คุณเลือกใช้นั้นดันไปเหมือนหรือคล้ายกับชุดสีของคู่แข่งเข้าล่ะก็ นั่นหมายถึงคุณจะต้องเสียเวลาเริ่มต้นออกแบบเว็บไซต์ใหม่เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นเสียเวลาศึกษาคู่แข่งและตลาดก่อนสักนิดก่อนที่คุณจะตัดสินใจเลือกชุดสีใดชุดสีหนึ่งกับเว็บไซต์ของตัวเอง

2. ทำความคุ้นเคยกับ colour chart

เมื่อถึงเวลาที่จะเลือกใช้สีสำหรับเว็บไซต์ คนส่วนใหญ่จะเลือกสีที่ตัวเองชอบเป็นอันดับแรก จริงๆแล้วก็ไม่ผิดนักที่จะเลือกสีที่ตัวเองชอบ แต่คุณจะพลาดโอกาสที่จะลองสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นข้อนี้เราจึงขอแนะนำให้คุณลองทำความคุ้นเคยกับการเทียบสีใหม่ๆใน colour chart  โดยเริ่มต้นด้วยการเปิดใจให้กับสีที่ไม่ใช่สีโปรดของคุณ และลองเทียบสีที่เข้ากันและสีที่ตัดกัน เว็บไซต์ที่ดีนั้นองค์ประกอบทุกอย่างในเว็บไซต์จะต้องมีสีที่เข้ากัน แต่ต้องไม่ใช่สีเดียวกันไปเสียทั้งหมด ทั้งสีที่เข้ากันและสีที่ตัดกันต่างก็มีความสำคัญในการทำให้เว็บไซต์ของคุณดูสวยงามโดดเด่นขึ้นมาได้ด้วยกันทั้งคู่

3. ตั้งเป้าหมายของคุณ

รู้หรือไม่ว่าเป้าหมายของธุรกิจของคุณนั้นสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับการเลือกชุดสีของเว็บไซต์คุณได้เช่นกัน สีแต่ละสีนั้นมีความหมายและทำให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันในคนแต่ละคน แต่ละภูมิภาค รวมไปถึงแต่ละประเทศ โดยคุณอาจใช้วัฒนธรรมเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกสีสำหรับเว็บไซต์ของคุณได้ ยกตัวอย่างเช่น ในบางประเทศของเอเชียเช่นจีน หรือแม้กระทั่งประเทศไทยเอง สีแดงเป็นสีที่แสดงถึงความโชคดีและความรุ่งเรือง ส่วนประเทศฝั่งตะวันตกนั้นสีแดงเป็นสีที่แสดงถึงความหลงใหล ความรัก และความอันตราย ส่วนสีเขียวมักแสดงถึงธรรมชาติ สุขภาพและความมีชีวิตชีวา ในขณะที่สีน้ำเงินนั้นมักแสดงถึงความมั่นคงและหนักแน่น เป็นต้น เมื่อไรก็ตามที่คุณกำหนดเป้าหมายของธุรกิจและเว็บไซต์ของคุณแล้ว สิ่งสำคัญอันดับต้นๆคือการเลือกใช้สีที่ช่วยให้ลูกค้ามองเห็นถึงเป้าหมายนั้นๆของคุณ ถ้าหากคุณยังไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาของสี (colour psychology) เริ่มศึกษาตั้งแต่ตอนนี้เลย แล้วคุณจะพบว่ามีสิ่งใหม่ๆอีกมายที่คุณจะได้เรียนรู้จากมัน

4. เลือกสีจากสิ่งที่คุณมีอยู่แล้ว

ถ้าหากว่าเว็บไซต์ของคุณมีรูปภาพอยู่บ้างแล้ว คุณก็จะสามารถจำกัดโทนสีของเว็บไซต์คุณได้ง่ายขึ้นอีกเยอะเลยล่ะ วิธีง่ายๆที่เราจะบอกคุณก็คือ ลองมองไปที่รูปพวกนั้น แล้วมองหาสีที่เป็นสีหลักจากรูปภาพนั้น เช่น ภาพถ่ายพระอาทิตตกจะมีสีส้มและสีเหลืองเป็นสีหลัก คุณสามารถใช้โทนสีพวกนี้เป็นสีในเว็บไซต์ของคุณได้เลย แต่ถ้าเว็บไซต์ของคุณยังไม่มีรูปภาพใดๆเลย และคุณก็ยังมีแผนในอนาคตอีกว่าอาจจะเพิ่มรูปอีกหลายๆรูป และที่สำคัญคุณก็ไม่ใช่นักออกแบบหรือศิลปินนักวาดภาพเสียด้วย ไม่ต้องกังวลไป สมัยนี้คุณสามารถหาเครื่องมือออนไลน์ที่จะช่วยคุณมองหาสีที่เข้ากันได้ง่ายๆเช่น Image Color Picker และ Color Code Picker เครื่องมือออนไลน์พวกนี้จะช่วยให้คุณได้ไอเดียดีๆหลายอย่างเกี่ยวกับสีที่เหมาะกับเว็บไซต์ของคุณ 

5 วิธีที่ช่วยให้คุณเพิ่มยอดขายผ่านเว็บไซต์ของคุณ

 

5 วิธีที่ช่วยให้คุณเพิ่มยอดขายผ่านเว็บไซต์ของคุณ

ในสมัยก่อนที่เทคโนโลยีและสื่อ digital จะเข้ามามีบทบาทในด้านการตลาด เราจะเห็นนักการตลาดโปรโมทสินค้าและบริการผ่านทางช่องทางต่างๆเช่น ใบปลิว แผ่นผับ โบรชัวร์ และออกบูธงานแสดงสินค้าต่างๆ รวมไปถึงลงสปอตโฆษณาทางวิทยุและโทรทัศน์ เป็นต้น

แต่ในโลกปัจจุบัน ถึงแม้ว่าการตลาดแบบเดิมจะยังมีให้เราเห็นอยู่บ้าง แต่ถ้าหากคุณต้องการจะอยู่รอดจากการแข่งขันอันดุเดือดในสนามธุรกิจ คุณจำเป็นจะต้องเรียนรู้โลกของ digital marketing โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยซึ่งติดอับหนึ่งของโลกในเรื่องของการใช้งานอินเตอร์เน็ต

สิ่งสำคัญที่เจ้าของแบรนด์และธุรกิจจำเป็นต้องรู้เป็นอันดับแรกๆคือ หากคุณต้องการขยายแบรนด์หรือธุรกิจของคุณให้เติบโต คุณจำเป็นจะต้องมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง จากสถิติที่เราค้นคว้ามาพบว่าในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (พ.ศ.2561) มีเว็บไซต์บนโลกอินเตอร์เน็ตทั้งหมดโดยประมาณถึง 1.94 พันล้านเว็บไซต์ และเว็บไซต์ e-commerce ก็เติบโตขึ้นมากเช่นกัน โดยคาดกันว่าในปีนี้ธุรกิจ e-commerce จะมียอดขายถึง 3.45 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐเลยทีเดียว

และหากคุณเป็นผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ คุณเองก็อยากมีส่วนร่วมในการทำยอดขาย 3.45 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐใช่ไหมล่ะ? แล้วคุณรู้ไหมว่าอะไรคือคีย์สำคัญในการพาคุณไปสู่ความสำเร็จนี้? จริงๆแล้วคำตอบก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย นั่นก็คือเว็บไซต์และการบริหารจัดการเว็บไซต์ของคุณนั่นเอง และในบทความนี้เรามี 5 วิธีที่ช่วยให้คุณเพิ่มยอดขายด้วยการสร้างและบริหารจัดการเว็บไซต์ของคุณมานำเสนอให้คุณลองทำตามกันดู

1. สร้างแบรนด์และจัดการชื่อเสียงแบรนด์ของคุณ (reputation management)

คนทั่วไปอาจจะมองว่าเว็บไซต์เป็นแค่เพียงช่องทางการจำหน่ายรองของร้านค้า แต่จริงๆแล้วเว็บไซต์เองก็สามารถที่จะเป็นช่องทางการจำหน่ายหลักได้เหมือนกัน เราไม่อยากให้คุณมองว่าเว็บไซต์เป็นแค่เพียงที่จัดเก็บคอลเลคชั่นรูปภาพ หรือวิดิโอสวยๆ แต่เราอยากให้คุณมองว่าเว็บไซต์นี่แหละเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เพราะมันเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าและบริการของคุณนั่นเอง

ดังนั้นอันดับแรกคุณต้องแน่ใจว่าเว็บไซต์ของคุณนั้นสามารถสื่อถึงแบรนด์ในรูปแบบของแบรนด์ที่คุณอยากให้มันเป็นได้ เมื่ออันดับแรกสำเร็จ อันดับต่อมาคุณก็จะสามารถโฟกัสไปที่การสร้างภาพลักษณ์และการจัดการกับชื่อเสียงของบริษัทคุณได้เต็มที่ (reputation management) และเมื่อแบรนด์ของคุณมีชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดี ลูกค้าก็จะให้ความไว้วางใจและมั่นใจกับสินค้าและบริการของคุณ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มยอดขายในที่สุด

2. เว็บไซต์ของคุณจะต้องใช้งานได้ง่าย (user friendly) และรองรับการแสดงผลบนหน้าจอมือถือ (mobile-friendly)

สองสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆที่นักออกแบบเว็บไซต์จะมองข้ามไปไม่ได้เลยเชียวล่ะ เพราะเว็บไซต์ที่ใช้งานได้ง่ายนั้นจะช่วยให้ลูกค้าของคุณคลิกเพื่อดูหน้าแต่ละหน้าในเว็บไซต์ได้อย่างสะดวกและง่ายต่อการเปลี่ยนไปยังหน้าหรือเมนูอื่นๆ ลองคิดสิว่าหากลูกค้าเข้าชมเว็บไซต์เพื่อจะซื้อสินค้าสักชิ้นหนึ่ง แต่เมื่อเข้าเว็บไซต์ไปแล้ว กลับหาหน้าที่แสดงสินค้าทั้งหมดไม่เจอ เพราะเมนูแสดงหน้าสินค้าดันไปอยู่ล่างสุดเสียนี่ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ ลูกค้าออกจากเว็บไซต์เพื่อไปหาซื้อสินค้าจากเว็บไซต์อื่น นั่นหมายถึงคุณสูญเสียรายได้จากลูกค้าคนนี้ไปแล้วอย่างน่าเสียดาย และทำไมเราถึงบอกคุณว่าเว็บไซต์ที่ดีจะต้องรองรับการแสดงผลบนหน้าจอมือถือ? นั่นก็เป็นเพราะว่าในทวีปเอเชียนั้นมีผู้เข้าชมเว็บไซต์ผ่านมือถือเป็นจำนวนถึง 65% ของผู้ใช้งานทั้งหมดเลยทีเดียวไงล่ะ

ถ้าหากคุณจ้างนักออกแบบเว็บไซต์ที่ไม่มีประสบการณ์ คุณอาจจะจบลงด้วยการได้เว็บไซต์ที่มีโครงสร้างซับซ้อน และโอกาสที่ผู้เข้าชมเว็บไซต์จะเกิดความหงุดหงิดและท้ายที่สุดคือปิดเว็บไซต์ของคุณลงเสียดื้อๆก็มีไม่น้อยเลยทีเดียว นั่นหมายความว่าโอกาสที่ผู้เข้าชมเว็บไซต์ของคุณจะกลายมาเป็นลูกค้าของคุณก็จะน้อยลงด้วยเช่นกัน

3. เลือกใช้รูปภาพและวิดิโอที่ดูน่าสนใจ

หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เว็บไซต์ของคุณปังนั่นคือการมีบทความ (blog) และทำการอัพเดทมันเป็นประจำด้วยเนื้อหาที่สดใหม่ ทันสมัย และตามเทรนอยู่เสมอ คุณรู้หรือไม่ว่าการที่เว็บไซต์ของคุณมีบทความที่มีเนื้อหาที่ดี เป็นเอกลักษณ์ และไม่ได้ไปก็อปปี้เนื้อหาของชาวบ้านมา นั่นหมายถึงเว็บไซต์ของคุณมีโอกาสมากขึ้นที่จะถูกค้นเจอบน google เป็นอันดับต้นๆ (เพราะ google ก็ฉลาดมากพอที่จะรู้ว่าคุณไปก๊อปปี้เนื้อหาของคนอื่นมาหรือไม่ ซึ่งหากคุณก็อปปี้เนื้อหาของชาวบ้านมาล่ะก็ google ก็คงไม่ยอมให้เว็บไซต์ของคุณขึ้นอันดับต้นๆเป็นแน่แท้)

ถ้าคุณทำเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อธุรกิจของคุณ คุณอาจจะอัพเดท blogของคุณเป็นประจำด้วยการโพสรูปภาพผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่วางจำหน่าย หรืออาจจะเป็นวิดิโอบริการต่างๆที่คุณมอบให้แก่ลูกค้า โดยที่คุณเองสามารถเขียนบทความ SEO เจ๋งๆ เพื่ออธิบายประกอบรูปภาพและวิดิโอเหล่านี้ จริงๆแล้ว Blog ที่มีคุณภาพนี่แหละ ที่จะเป็นตัวดึงดูดว่าที่ลูกค้าให้เข้ามาชมเว็ปไซต์ของคุณมากขึ้น และแถมยังช่วยรักษาฐานลูกค้าเก่าที่มีอยู่แล้วให้คุณอีกด้วย

4. อย่าลืมที่จะใส่รายละเอียดช่องทางการติดต่อ และปุ่ม Call To Actions

สุดท้ายเว็บไซต์ที่ประประสบความสำเร็จบางเว็บไซต์ คือเว็บไซต์ที่มีปุ่ม Call To Actions (CTAs) นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นพวกปุ่ม “ลงทะเบียนตอนนี้เลย” “subscribe now” “คลิกเพื่อซื้อสินค้า” เป็นต้น เพราะอะไรเว็บไซต์พวกนี้ถึงเป็นเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ? นั่นก็เป็นเพราะว่าการที่ว่าที่ลูกค้ามองเห็นช่องทางการติดต่อกับคุณได้ง่ายนั้น สามารถทำให้พวกเขาเกิดความความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเขาตัดสินใจที่จะมาเป็นลูกค้าของคุณในที่สุด

เอาล่ะตอนนี้ถ้าหากว่าคุณกำลังดูแลเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งอยู่ล่ะก็ จงอย่าลืมใส่ใจสองสิ่งที่เรากำลังจะบอกคุณต่อไปนี้เป็นอันขาด อย่างแรกคือ ปุ่ม CTAs จะต้องเป็นปุ่มที่แจ้งให้ลูกค้าของคุณทำในสิ่งที่เขาควรจะต้องทำเป็นรายการต่อไป พูดง่ายๆก็คือถ้าลูกค้าเข้ามาในเว็บไซต์คุณแล้ว และกำลังมองหาสิ่งที่พวกเขาต้องการอยู่ล่ะก็ ไอ้เจ้าปุ่ม CTAs ก็จะต้องพาเขาให้ไปเจอสิ่งสิ่งนั้นนั่นเอง เช่น หากลูกค้าเข้ามาชมเว็บไซต์ของคุณและกำลังมองหาสินค้าคอลเลคชั่นล่าสุด คุณจะต้องมีปุ่มที่ CTAs ที่มองเห็นได้ง่ายและมีหน้าที่พาพวกเขาไปยังหน้าที่แสดงสินค้าคอลเลคชั่นล่าสุดนั่นเอง และข้อสองที่เราจะบอกคุณคืออย่าลืมที่จะใส่รายละเอียดช่องทางการติดต่อให้มองเห็นได้โดยง่าย เพราะแค่เพียงคลิกเดียวคุณก็สามารถเปลี่ยนผู้เข้าชมเว็บไซต์ให้กลายมาเป็นลูกค้าของคุณได้ในที่สุด เราเชื่อว่าคุณก็ไม่อยากพลาดโอกาสนั้นหรอก ใช่ไหมล่ะ?

5. ใช้กลยุทธ์ SEO และ PPC

ทั้ง Search Engine Optimization (SEO) และ Pay-per-click (PPC) ต่างก็มีประโยชน์ในการเพิ่มยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ของคุณทั้งสิ้น และหากคุณต้องการเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจของคุณ สิ่งที่คุณต้องทำและให้ความใส่ใจก็คงหนีไม่พ้นการทำ SEO และ PPC

การทำ SEO เป็นวิธีที่ช่วยให้เว็บไซต์ของคุณถูกค้นหาเจอเป็นอันดับต้นๆในหน้า search engines ต่างๆ เช่น Google และ Bing โดยไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณาแต่อย่างใด หากแต่ต้องใช้เวลาสักนิดกว่าคุณจะเห็นผลของมัน ส่วน PPC นั้นตรงกันข้ามกับ SEO เลยล่ะ เพราะ PPC คือรูปแบบหนึ่งของการโฆษณาแบบเสียเงินที่จะทำให้ปริมาณผู้เข้าชมเว็บไซต์ของคุณเพิ่มมากขึ้น แต่ข้อดีของมันก็คือสะดวก และใช้เวลาไม่ในการเห็นผล แต่ข้อเสียก็อย่างที่บอกไปคือมันไม่ฟรี! ทั้งสองสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่คุณจะสามารถทำเองได้ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเงินและเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ สิ่งที่เราอยากจะแนะนำคุณก็คือ คุณอาจจะต้องจ้างผู้ที่ชำนาญด้าน digital marketing เข้ามาช่วยคุณดูแลในสองสิ่งนี้

เมื่อคุณตัดสินใจจะใช้แคมเปญ SEO แล้วคุณจะต้องแน่ใจว่าเว็บไซต์ของคุณจะปรากฏในหน้าแรกของ Google เมื่อผู้ใช้ค้นหาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของคุณผ่าน search engines และเมื่อคุณตัดสินใจใช้แคมเปญ PPC แล้ว ถ้าหากว่าเอเจนซี่ที่ดูแลแคมเปญให้คุณ professionl มากพอ เขาจะตรวจสอบให้แน่ใจว่างบประมาณของคุณถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและแคมเปญของคุณก็เพิ่มปริมาณผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้มากพอและสร้างผลกำไรจากการลงทุนได้จริง (ROI)